ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโลกมีการพบเชื้อไวรัสใหม่ ๆ เชื้อไวรัสกลายพันธุ์หลายชนิด เชื้อไวรัสที่แพร่เฉพาะสัตว์ ตลอดจนเชื้อไวรัสที่สามารถผ่านจากสัตว์มาสู่คน ซึ่งบางชนิดก็ได้อาละวาดแพร่ระบาดให้ชาวโลกหวาดผวาไปตาม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไข้หวัดนก หรือ เชื้อมือเท้าปาก
อย่างไรก็ตาม มีเชื้อไวรัสอันตรายถึงชีวิตบางชนิดระบาดเฉพาะในภูมิภาคของซีกโลกหนึ่ง ไม่ได้แพร่ไปสู่คนทั้งโลก แต่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั่วทุกภูมิภาค ต่างก็เฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เข้าไปแพร่ระบาดในประเทศของตนเองด้วยมาตรการต่าง ๆ เพื่อความไม่ประมาท
ล่าสุด เกิดเชื้อไวรัสอันตรายที่ทำให้โลกตกใจขึ้นมาอีกครั้ง นั่นคือเชื้อไวรัส “อีโบล่า” หรือ ไข้เลือดออกอีโบล่า ซึ่งระบาดในประเทศยูกันดา ทวีปแอฟริกา คร่าชีวิตผู้คนเพิ่มเป็น 15 รายแล้ว โดยระบาดหนักแถบภาคตะวันตก ห่างจากเมืองหลวง กรุงกัมปาลา ประมาณ 200 กม. และห่างจากพรมแดนของสาธารณรัฐประชาธิปไตคองโก เพียง 50 กม.
สำหรับเชื้อไวรัสอีโบล่านี้ เป็นกลุ่มโรคไข้แล้วมีเลือดออกชนิดหนึ่ง ซึ่งร้ายแรงถึงเสียชีวิต เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนใช้ป้องกัน และรักษาโดยได้รับการประกาศจากองค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ใน “ความปลอดภัยชีวภาพ ระดับ 4” ถือเป็นหนึ่งในเชื้อโรคอันตรายมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก
หากไล่เลียงย้อนอดีตไป มีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศว่า เชื้อไวรัสอีโบล่าถูกตั้งชื่อตามแม่น้ำขนาดเล็กในคองโก ทั้งนี้ เชื่อว่าเป็นไวรัสที่ผ่านจากสัตว์ไปสู่คน แต่ยังไม่พบการระบุว่าสัตว์ชนิดใดเป็นพาหะ
โดยเชื้อไวรัสอีโบล่าเกิดการระบาดครั้งแรกทางตอนใต้ของซูดาน เมื่อช่วงกลางปี 2519 ครั้งนั้นมีผู้ป่วยเกือบ 300 คน และเสียชีวิตกว่า 100 ราย จากนั้น ในบางปีต่อ ๆ มาก็พบการระบาดบ้างทั้งการระบาดใหญ่ และระบาดเล็กในบางประเทศของทวีปแอฟริกา สำหรับยูกันดาเกิดการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2543-2544 ระยะเวลาราว 5 เดือน มีผู้ป่วยกว่า 400 คน และเสียชีวิตกว่า 200 ราย
ลักษณะอาการจะมีไข้ขึ้นสูง เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดตามข้อ-กล้ามเนื้อ รวมถึงช่องท้อง และหนักถึงขั้นอาเจียน ท้องร่วงรุนแรง เกิดผื่น ตลอดจนตาแดงจัด แพร่เชื้อโดยการสัมผัสโดยตรงกับเลือด หรือ สารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ติดเชื้อ
ทั้งนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่าเคยพบผู้ป่วยด้วยเชื้อไวรัส “อีโบล่า” ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจากจำนวนมนุษย์ ตลอดจนการติดต่อ พบปะ สัญจรถึงกันได้สะดวกกว่าอดีตมาก อาจเป็นช่องทางหนึ่งที่โรคต่าง ๆ จะมีโอกาสเล็ดลอดแฝงเข้าไปถึง แม้จะเป็นพื้นที่ห่างไกลกันครึ่งค่อนโลกก็เป็นได้ จึงไม่ควรประมาท!!.