วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Rosa Parks

ผู้หญิงสามัญชน-ไม่สยบยอม 
“มารดาแห่งขบวนการสิทธิพลเมือง วันใหม่”

     แม้ขณะนี้ จะล่วงเลย จุดรุ่งของประธานาธิบดีโอบาม่า แล้ว ใกล้จะถึงวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า บารัค โอบาม่า คงไม่ได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย แต่ประวัติศาสตร์ก็จารึกไว้แล้วว่า เขาเป็นประธานาธิบดีผิวดำ(ไม่ขอเรียก “ผิวสี”) คนแรก เราๆก็คงทราบว่า กว่าอเมริกาจะยอมรับคนผิวดำ ให้เป็นถึงขนาดนี้ไม่ได้ง่ายเลย ต้องมีการต่อสู้นับสิบๆปี คนไทยก็คงพอรู้จักชื่อของ มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์(Martin Luther King Jr.) ส่วนจะรู้ลึกลงไปนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ แม้หาในอินเทอร์เน็ตก็ข้อมูลเป็นภาษาไทยน้อย วิกิพิเดียภาคไทยขณะนี้ยังไม่มีเรื่องของเธอเลย ไม่ต้องเอ่ยถึงตำราเรียนในปัจจุบันก็ได้ คงไม่แปลกที่จะกล่าวได้ว่า เรื่องขบวนการสิทธิมนุษยชน ขบวนการเพื่อความเป็นธรรม ในโลก ไม่เป็นที่รับรู้หรือรับรู้แต่เบาบางของเด็กไทย ที่เราอ้างว่า เด็กเป็นอนาคตของชาติ จะเป็นไปแบบไทยๆ หรือแบบสากลโลกเล่า เรื่องนี้ทุกคนต้องช่วยกันคิดพิจารณา อย่างมีโยนิโสมนสิการ ข้าพเจ้าไม่อาจจะไปตัดสินได้ เพราะไร้อำนาจ และไม่ใช่เผด็จการฟาสซิสต์
เราคงพอได้ยินชื่อของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ มาแล้ว แต่เรารู้ไหมว่าบุคคลคนหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า คิง ก็มี ถ้าหากไม่มีเธอผู้นี้ได้แสดงความกล้าหาญ(ที่จะกล่าวถึง)ในวันนั้น ก็อาจจะไม่มีคิงที่โลกรู้จักในวันนี้ และก็ไม่อาจมีประธานาธิบดีผิวดำนาม บารัค โอบาม่า ที่ดำรงอยู่ในตอนนี้ จริงๆก็มีคนสู้มาก่อนหน้าเธอมากมายนัก แต่เธอผู้นี้เป็นนักต่อสู้ในยุคใหม่ หรือเป็นการขบวนการสิทธิพลเมือง สมัยใหม่ ที่ต่างจากอดีต การต่อสู้เริ่มจะเป็นเชิงไม่ใช้ความรุนแรง ส่วนเธอก็เริ่มต้นแรกๆเลย โดยทำสิ่งที่เรียกว่า “อารยะขัดขืน”

                                           

ไม่ให้เยินเย่อ ก็จะกล่าวถึงเธอผู้นี้เลย เธอคือผู้หญิงผิวดำที่ชื่อว่า “โรซ่า พาร์ค”(Rosa Parks) เกิดเมื่อปี ๑๙๑๓ ใน อลาบาม่า (Alabama) สมัยนั้นมีการเหยียดผิวอย่างรุนแรง เธอต้องผจญกับความอยุติธรรม เพื่อนบ้านต่างสีผิวที่กลั่นแกล้งเธอ แต่แม่ของเธอ นางลีโอนา ไม่ยอมต่อชะตากรรม ให้ความสำคัญต่อการศึกษาของลูก สู้ชีวิต ย้ายไปในหลายเมือง เพื่อความมั่นคงในชีวิตของลูก ด้วยการไม่ท้อแท้ต่อการอบรม ทุ่มเทกับการศึกษา ในที่สุด พาร์ค ก็จบการศึกษาชั้นสูง กระนั้นในบรรยากาศทางการเมืองที่แยกผิว เธอต้องได้รับสิ่งที่เป็นสองมาตรฐานอย่างมาก แต่เธอไม่ได้จำนนต่อสิ่งเลวร้ายเหล่านั้น รู้ว่ามันมีปัญหาที่ตัวกฎหมาย เธอเห็นใจคนผิวขาว และรู้ว่าคนผิวขาวนั้นไม่ได้เลวร้าย ความเมตตากรุณาของเธอ เป็นกระบวนทัศน์หล่อหลอมทัศนคติและการกระทำของเธอไปในทางไม่ใช้ความรุนแรง อีกอย่างเธอก็ได้สามีที่ดีทีเดียว สนับสนุนซึ่งกันและกัน

เหตุการณ์ที่สำคัญและเป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้จนสู่ชัยชนะ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑

 ธันวาคม ปี๑๙๕๕ เธอไม่ยืนขึ้นให้คนผิวขาวนั่ง ซึ่งกฎหมายสมัยนั้นระบุอย่าง

ชัดเจน ถ้าคนผิวขาวไม่มีที่นั่ง คนผิวดำต้องลุกให้ แต่เธอไม่ เธอไม่ยินดี แล้วมันก็

เป็นสิ่งที่เธอตั้งใจจะทำแล้วด้วย แล้วก็บังเอิญอีกว่า คนขับรถบัส ที่เธอนั่งนั้น เป็น

คนเดียวกับที่ไล่เธอลงมาจากรถเมื่อเธอยังเยาว์วัย เธอจำได้ดี แล้วตอนนี้ก็เป็น

โอกาสดีที่เธอจะแสดง “อารยะขัดขืน” เธอปราศจากความกลัว ตัดสินใจแน่วแน่

 เขาไล่ให้ลุก เธอไม่ลุก เธอยืนยันในสิทธิของเธอ มันสำเร็จด้วยดี ผลก็คือ เธอ

ถูกจับไปโรงพัก ข่าวนี้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว สู่การรับรู้ของคนผิวดำในเมือง

นั้น มอนโกเมรี่  ๔ วันจากนั้น พวกเขาร่วมใจกันบอยคอตรถบัส เพื่อให้

เปลี่ยนแปลงยกเลิกกฎหมายการแบ่งแยกสีผิว บนรถบัส โดยพวกเขาชูเรื่อง “โรซ่า

 พาร์ค หญิงนิโกร” เป็นกรณี เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการเริ่มต้นขบวนการ

สิทธิพลเมืองขึ้นในอเมริกา ผู้นำในการบอยคอตนั้นก็คือ สาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์

คิง มันไม่ง่ายเลย กระบวนการกดดันทำไปอย่างยาวนาน จนในที่สุด วันที่ ๑๓

 พฤศจิกายน ปี ๑๙๕๖ เกือบหนึ่งปีจากนั้น ศาลสูงของสหรัฐ ประกาศว่า การแบ่ง

แยกสีผิวในรถ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้จบ ปัญหายังไม่จบ สมที่อันโต

นิโอ กรัมชี่กล่าว “สิ่งเก่ากำลังตาย สิ่งใหม่กำลังปรากฏ สิ่งเก่าขัดขวางสิ่งใหม่

 อสุรกายจะปรากฏ” ปฏิกิริยาก็เกิดขึ้น ขบวนการคู คลูก คลัน(ขบวนการปีศาจ-Ku

 Klux Klan) ก็ตามล่าไม่จบ มันฟื้นคืนชีพ และ ๔ เมษายน ปี๑๙๖๘ ผู้นำ

ขบวนการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว สาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์คิง ก็เป็นอันต้องตายไป

 จากการฆาตกรรม การต่อสู้ก็ดั่งสายธาร และเธอก็เป็นต้นสายธารนั้น จนในที่สุด

กฎหมายการแบ่งแยกสีผิวก็ถูกยกเลิกไปจากการต่อสู้ของเธอและขบวนการสิทธิ

พลเมือง ทัศนคติของคนอเมริกันชนผิวขาวเริ่มเปลี่ยนไป แม้จะยังมีพวกทัศน

ดักดานอยู่ แต่ก็จำนวนน้อยถ้าเปรียบกับทั้งหมด โชคดีจริงๆ ที่พาร์ค เห็นชัยชนะของการต่อสู้ ในปี ๑๙๘๗ เธอก่อตั้ง สถาบันโรซ่า-เรย์มอนด์ พาร์คเพื่อการ

พัฒนาตนเอง (Rosa and Raymond Parks Institute for Self-Development)


สถาบันนี้ปลูกฝังเด็กๆเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในอเมริกา สมัยประธานาธิบดีผิวขาวบิลล์ คลินตัน เธอได้รับเหรียญรางวัลการสู้เพื่ออิสรภาพ มันเป็นเครื่องการันตีว่าการแบ่งแยกสีผิวได้จบแล้ว ในปี ๒๐๐๐ มีการนำชื่อของเธอไปตั้งเป็นชื่อห้องสมุดและทำพิพิธภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยทรอย ในมอนโกเมรี่ นอกจากนี้ เธอยังได้รับรางวัลต่างๆอีกมากมาย นิตยสารไทม์ จัดอันดับให้เธอเป็นหนึ่งในที่สุดของศตวรรษที่ ๒๐ โมเลฟี่ อซานเต้ (Molefi Kete Asante) นักวิชาการที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกา จัดอันดับเธอเป็น ๑ ใน ๑๐๐ ของสตรีชาวแอฟริกัน-อเมริกา ผู้ยิ่งใหญ่ (100 Greatest Woman Africa American)เธอได้รับการขนานนามว่าเป็น “มารดาแห่งขบวนการเพื่ออิสรภาพ”( the mother of the freedom movement) หรือ “มารดาแห่งวันใหม่ ของขบวนการสิทธิพลเมือง” (Mother of The Modern Day Civil Rights Movement)สิ่งที่พารค์สู้ มันมีค่ามากกว่ารางวัล รางวัลพวกนี้จะตอบแทนเธอได้ไม่หมดสิ้นหรอก และเธอก็เป็นผู้หญิงที่เรียบง่ายจนวาระสุดท้ายของชีวิต เธอจากเราไป ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ปี ๒๐๐๕ ขณะที่เธออายุ ๙๒ ปี โดยศพของเธอเก็บไว้ที่สุสานประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (เธอเป็นคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้) และในปี ๒๐๐๘ หลังจากเธอสิ้นชีวิตไปได้ ๓ ปี ชื่อของเธอได้เข้าสู่ หอเกียรติยศสตรีผู้ทรงเกียรติแห่งอลาบาม่า
มีถ้อยคำหนึ่งที่ผู้คนกล่าวกัน “โรซ่า พาร์ค นั่ง – คิง จึงได้เดิน –และโอบาม่า จึงมีสิทธิมีเสียง”
“ทั้งหมดมัน เริ่มบนรถบัส” (It All Started on a Bus)   
ขอคารวะต่อสตรีสามัญชน ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน จนมีชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ เป็นของขวัญแด่อนุชนคนรุ่นหลัง เธอคือผู้หญิงที่คุณความดีจะจารึกไว้ในโลก ตลอดชั่วกาลนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น