วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา (Rwanda Genocide)

รวันดาเป็นประเทศเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในภูมิภาคแอลเบอร์ไทน์ริฟต์ระหว่างตอนกลางและตะวันออกของทวีปแอฟริกา ดินแดนแห่งนี้ ไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่ด้านตะวันออกของประเทศอยู่ติดกับทะเลสาบเกรตเลค ในอดีตประเทศนี้แทบไม่เป็นที่รู้จักของชาวโลกจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น นั่นคือ ”การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
rwanda5
ภูมิประเทศของรวันดา
ประเทศรวันดามีชื่อเต็มว่า สาธารณรัฐรวันดา มีเมืองหลวงชือ คิกาลี ดินแดนแห่งนี้มีประชากรร่วมแปดล้านคนและถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปอาฟริกา ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเนินเขาปกคลุมด้วยป่าดงดิบ อาณาเขตของรวันดาทางตอนเหนือติดกับอูกันดา ทางใต้ติดกับบูรุนดี ทางตะวันตกติดกับคองโกและตะวันออกติดกับแทนซาเนีย ซึ่งดินแดนทั้งหมดนี้ถูกเรียกว่า แอลเบอร์ไทน์ริฟต์ พลเมืองส่วนใหญ่ของรวันดาคือชาวฮูตู (Hutu) ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด ชาวทุตซี (Tutsi) ซึ่งเป็นชนเผ่าเลี้ยงสัตว์ และพวกทวา (Twa) หรือปิ๊กมี่ซึ่งเป็นชนเผ่าที่ตัวเล็กที่สุดในโลก 
ตามประวัติศาสตร์ของดินแดนแอลเบอร์ไทน์ริฟต์ ที่นี่มีชนพื้นเมืองหลายกลุ่มเข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่เมื่อ ค.ศ.500 โดยพวกนี้เป็นชนที่พูดภาษาบันตูเหมือนกัน ซึ่งหลังจากเวลาผ่านไป ชนพื้นเมืองเหล่านี้ได้แบ่งแยกชัดเจนเป็นกลุ่มชนเลี้ยงสัตว์และกลุ่มกสิกร ซึ่งการใช้วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน นอกจากจะทำให้มีความแตกต่างในด้านขนบประเพณีและการแต่งกายแล้ว ยังทำให้มีลักษณะทางกายภาพบางอย่างต่างกันด้วย
tutsi_hutu_twa3
ชนเผ่าต่าง ๆ ของรวันดา
โดยกลุ่มชนเลี้ยงสัตว์จะมีรูปร่างสูง เพรียว ริมฝีปากบาง สีผิวค่อนข้างอ่อน ขณะที่กลุ่มกสิกร มีรูปร่างปานกลางผิวเข้ม ริมฝีปากหนา เมื่อชาวผิวขาวมาถึงดินแดนนี้ในศตวรรษที่ 19 พวกเขาพบว่ารัฐเล็กๆรอบทะเลสาปเกรตเลคที่ถูกปกครองโดยชนเลี้ยงสัตว์มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าเป็นแบบแผนกว่ากลุ่มชนเผ่ากสิกร พวกเขาจึงเข้าใจผิดว่า ชนเลี้ยงสัตว์เป็นกลุ่มชนที่เจริญกว่าและเข้ามาพิชิตกลุ่มชนกสิกร จากนั้นจึงก่อตั้งรัฐที่เป็นแบบแผนขึ้นซึ่งนี่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมหันต์
และด้วยความเข้าใจผิดนี้เอง ที่ทำให้เบลเยี่ยมแบ่งกลุ่มชนที่อยู่ในอาณานิคมออกเป็นสองกลุ่ม โดยใช้ลักษณะทางกายภาพบางประการ พวกชนเผ่าเลี้ยงสัตว์อย่างพวกวาทุตซีซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยถูกแบ่งแยกออกจากชนเผ่ากสิกรอย่างพวกฮูตูและฮุนเดอ ซึ่งนอกจากจะแบ่งแยกชัดเจนแล้ว รัฐบาลอาณานิคมเบลเยี่ยมยังให้สิทธิต่างๆแก่ชาวทุตซีมากกว่าพวกฮูตูอีกด้วย เนื่องจากความเข้าใจผิดในชาติภูมิของพวกทุตซีว่าสูงส่งกว่าพวกฮูตูดังที่กล่าวไป
การยกหางของรัฐบาลอาณานิคมทำให้เหล่าชนชั้นสูงของทุตซีเกิดความหยิ่งทะนงและดูถูกชาวฮูตูทั้งๆที่แท้จริงพวกเขาล้วนมีรากเหง้าเดียวกัน ใช้ภาษาเดียวกัน
การดูถูกเหยียดหยามและการได้รับสิทธิต่างๆจากจ้าวอาณานิคมมากกว่า ทำให้ชาวฮูตูมีความริษยาและเกลียดชังชาวทุตซีแฝงอยู่ ในปี ค.ศ.1933 เบลเยี่ยมได้ออกบัตรประจำตัวเพื่อแบ่งแยกชาวทุตซีและฮูตูออกจากกันอย่างชัดเจน โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายของหน้าประวัติศาสตร์อาฟริกา
หลังการปกครองของเบลเยี่ยมสิ้นสุดลง รวันดาได้รับเอกราชและถูกปกครองโดยรัฐบาลชาวทุตซี ซึ่งเข้าข้างชาวทุตซีด้วยกันและกดขี่ชาวฮูตู จนนำไปสู่การปฏิวัติของชาวฮูตูและเข้ายึดอำนาจรัฐ ทำให้ชาวทุตซีจำนวนมากอพยพลี้ภัยออกนอกประเทศ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งได้จัดตั้งกองกำลังต่อต้านรัฐบาลฮูตู โดยใช้ชื่อว่า กลุ่มแนวหน้ารักชาติรวันดา (RPF)
ใน ปี ค.ศ. 1994 ประธานาธิบดี จูเวนาล ฮับยาริมานา ของฮูตู ตัดสินใจเจรจาสันติภาพกับ RPF ทว่าลูกน้องจำนวนมากของเขาไม่เห็นด้วยและหลังการตกลงสงบศึกนั้นเอง เครื่องบินของประธานาธิบดีก็ถูกจรวดมิซไซล์ลึกลับยิงถล่ม ปลิดชีพของเขา การตายของจูเวนาลกลายเป็นชนวนความโกรธแค้น โดยชาวฮูตุกล่าวหาว่าเรื่องนี้เป็นฝีมือของพวกทุตซี (อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่า ผู้ลงมือ น่าจะเป็นลูกน้องของประธานาธิบดีจูเวนาลที่ไม่พอใจการสงบศึกมากกว่า) และหลังจากนั้นไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมง การล้างแค้นนองเลือดก็เริ่มขึ้น
rwanda3
 ซากศพเหยื่อเคราะห์ร้าย
ในวันที่ 6 เมษายน ปี ค.ศ.1994 กองทัพฮูตูและประชาชนบางส่วนได้ออกมาไล่สังหารชาวทุตซีโดยมีเป้าหมายหลักคือผู้ชายทุกวัย ด้วยข้ออ้างที่ว่า คนเหล่านี้อาจเข้าร่วมกับพวกกบฏ RPF หรือไม่ก็เป็นไปแนวร่วม ส่วนหญิงสาวชาวทุตซีถูกจับมาข่มขืนและสังหารทิ้งอย่างเหี้ยมโหด ขณะพวกที่รอดตายราวสองในสามก็ต้องกลายเป็นผู้ติดเชื้อเอดส์
ในเวลาดังกล่าว ไม่มีประเทศใดยื่นมือขัดขวางเหตุรุนแรงครั้งนี้ บรรดาประเทศที่เกี่ยวข้องกับรวันดาต่างทำเพียงอพยพคนของตนออกมาเท่านั้น และแม้กองกำลังสหประชาชาติจะถูกส่งเข้าไปในรวันดาตั้งแต่ก่อนเกิดเรื่อง ทว่าพวกเขาก็ไม่ได้รับคำสั่งให้กระทำการใดๆเพื่อยุติเหตุรุนแรง เนื่องจากยังไม่มีมติเห็นชอบจากประเทศสมาชิกสำคัญ โดยสหรัฐอเมริกาผู้ตั้งตนเป็นตำรวจโลกนั้นไม่ต้องการเข้าไปยุ่งด้วยเนื่องจากไม่ได้มีผลประโยชน์ในดินแดนนี้ ขณะที่ฝรั่งเศสเองก็วางเฉยเนื่องจากกลัวเสียสัมพันธภาพกับรัฐบาลฮูตู ส่วนเบลเยี่ยม เจ้าอาณานิคมเดิมก็ไม่อยากเข้าไปข้องเกี่ยวเพราะเกรงจะเกิดปัญหาทางการเมืองกับฝ่ายตน
rwanda2
ผู้อพยพหนีภัยสงคราม
การเผิกเฉยของนานาชาติทำให้เหตุการณ์ทวีความรุนแรงมกขึ้น ขณะที่ฝ่าย RPF ก็เปิดฉากโต้ตอบฝ่ายฮูตูอย่างรุนแรง จนถึงขั้นสังหารนายกรัฐมนตรีของชาวฮูตูเสียชีวิต ซึ่งยิ่งทำให้ฝ่ายฮูตูซึ่งประกอบด้วยทหารรัฐบาลและกองทหารบ้านลงมือสังหารหมู่ชาวทุตซีอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น
เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน ปีค.ศ.1994 ไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ.1994 จากนั้นกองกำลัง RPF นำโดย นายพอล คากาเม ก็เข้ายึดอำนาจขับไล่รัฐบาลชาวฮูตู ทำให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สิ้นสุดลง ซึ่งชัยชนะของพวกทุตซีส่งผลให้ทหารบ้านและประชาชนชาวฮูตูนับแสนอพยพหนีเข้าไปในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เพราะกลัวการถูกล้างแค้น และไม่ถึงปีจากนั้น ผู้อพยพชาวฮูตูได้กลายเป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองในคองโกถึงสองครั้ง ซึ่งมีหลายชาติในอาฟริกาเข้าไปเกี่ยวข้อง จนถูกเรียกว่า มหาสงครามแอฟริกัน และมีผู้คนล้มตายมากถึงห้าล้านคน
ปัจจุบันเหตุการณ์ในรวันดากลับสู่ความสงบ ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี พอล คากาเม ที่พยายามสร้างเสถียรภาพและเร่งการพัฒนาประเทศ แม้จะถูกกล่าวหาว่า เขาค่อนข้างเป็นเผด็จการและเล่นงานฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างอย่างรุนแรงก็ตาม
rwanda4
ที่พักของผู้ลี้ภัย
สำหรับเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดานั้น ตลอดระยะเวลาหนึ่งร้อยวันที่เกิดเรื่อง ประมาณการว่ามีชาวรวันดาเสียชีวิตราว 800,000 – 1,070,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นชาวทุตซีราวแปดแสนคน นับเป็นตัวเลขการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่สูงมากในระยะสั้นๆเพียงร้อยวัน และกลายเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญของมนุษยชาติ
แม้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาจะมีสาเหตุมาจากการปลุกปั่นของนักการเมืองที่อาศัยความเกลียดชังระหว่างเผ่าที่แฝงอยู่ เป็นเชื้อไฟ ทว่ามีข้อสังเกตหนึ่งที่เห็นได้ในดินแดนนี้ นั่นคือความหนาแน่นของประชากรเมื่อเทียบกับพื้นที่ทำกินที่มีจำกัด จนทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงที่ดิน
แม้ไม่อาจบอกได้ชัดว่า ความขาดแคลนที่ดินเป็นสาเหตุแฝงที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้ แต่บางที โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นภาพจำลองในอนาคตของโลก หากว่าวันหนึ่ง มนุษย์พบว่าทรัพยากรธรรมชาติมีไม่เพียงพอสำหรับทุกคนอีกต่อไปและพวกเขาอาจต้องเลือกระหว่างการเอาตัวรอดกับคำว่า มนุษยธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น