วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ราชาแห่งเทพนิยายฮันส์ คริสเตียนแอนเดอร์เซน?

                                     
                                           


  นักเขียนผู้แต่งเทพนิยายซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของเด็ก ๆทั่วโลกผู้นี้ เขียนทั้งบทละคร  นวนิยาย  บทกวี  หนังสือท่องเที่ยวและอัตชีวประวัติไว้มากมาย แต่ปรากฏว่าผลงานเหล่านี้แทบจะไม่เป็นที่รู้จักกันเลยนอกประเทศเดนมาร์ก  ขณะที่เทพนิยายของเขาเป็นหนึ่งในบรรดางานเขียนที่ได้รับการแปลบ่อยครั้งที่สุดในประวัติศาสตร์วรรณกรรม
       แอนเดอร์เซนเกิดในสลัมของเมืองโอเดนส์ ใกล้กรุงโคเปนเฮเกน บิดาเป็นช่างทำรองเท้าฐานะยากจน  เนื่องจากเขาเกิดมามีหน้าตาขี้เหร่  จึงเป็นเด็กขี้อาย  และมักถูกเพื่อนที่โรงเรียนแกล้งเสมอ เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี บิดาของเขาเสียชีวิตลงเขาจึงต้องออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำงานในโรงงาน  ในยามว่างเขาชอบอ่านบทละครและทำหุ่นชักเล่นตามเรื่องที่อ่านในโรงละครเด็กเล่นที่เขาสร้างขึ้นในบ้าน
       พออายุ ๑๔ ปี แอนเดอร์เซนจากบ้านเกิดไปแสวงโชคยังกรุงโคเปนเฮเกน  เขาพยายามทุกอย่างเพื่อให้ได้เข้าวงการละครตั้งแต่เขียนบท แสดง ร้องเพลง และเต้นรำ เล่ากันว่าเขามุ่งหวังที่จะเป็นนักเต้นรำและนักร้องอุปรากร แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อถูกปฏิเสธภายหลังการทดลองแสดงครั้งแรก โชคดีที่โจนาสคอลิน ผู้กำกับการแสดงคนหนึ่งของโรงละครแห่งโคเปนเฮเกนเห็นแววทางด้านการเขียนของแอนเตอร์เชน จึงช่วยรวบรวมเงินส่งเสียให้เขาเรียนต่อ ขณะนั้นเขาอายุ  ๑๗  ปีแล้ว แต่ต้องไปนั่งเรียนชั้นเดียวกับเด็กเล็ก แม้ว่าประสบการณ์ ๕ ปีในโรงเรียน จะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างทุกข์ทรมานสำหรับเขา  แต่ก็ทำให้เขาสามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้
       แอนเดอร์เซนเขียนบทละครหลายเรื่อง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เขาดูจะเป็นที่ยอมรับในฐานะนักเขียน นวนิยายมากกว่า ในปี ค.ศ. ๑๘๓๕ หนังสือรวมเทพนิยายเล่มแรกของเขาได้รับการตีพิมพ์  คำวิจารณ์ต่อหนังสือเล่มนี้ออกไปในด้านลบ  ซึ่งเขาก็ยอมรับและให้ความสำคัญกับงานเขียนสำหรับผู้ใหญ่มากกว่า  อย่างไรก็ตาม  เขายังคงผลิตนิทานสำหรับเด็กออกมาอย่างต่อเนื่อง
       แอนเดอร์เซนนำตำนานพื้นบ้านมาเล่าใหม่  แต่ด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์  นิทานที่เขาเล่าจึงแฝงไว้ด้วยคุณธรรมและความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ลึกซึ้งกินใจกว่าเรื่องดั้งเดิมมาก  วิธีการเล่าเรื่องของเขาใช้สำนวนและโครงสร้างของภาษาพูด  ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประเพณีการเขียนหนังสือ  เขารู้จักผสมผสานความสามารถในการเล่าเรื่องเข้ากับพลังจินตนาการและความเป็นสากลที่แฝงอยู่ในตำนานพื้นบ้าน ทำให้เทพนิยายของเขาเชื่อมโยงได้กับหลาย ๆ  วัฒนธรรม อีกเหตุผลหนึ่งที่นิทานของแอนเดอร์เซนจับใจคนจำนวนมากก็คือ การที่เขาประกาศตนยืนข้างผู้อับโชคและผู้ที่ถูกสังคมทอดทิ้ง
      แอนเดอร์เซนหยุดเขียนหนังสือในปี ค.ศ. ๑๘๗๒ เนื่องจากสุขภาพทรุดโทรม เขาถึงแก่กรรมในอีก ๓ ปีต่อมาด้วยโรคมะเร็ง ผลงานเทพนิยายของแอนเดอร์เซนมีมากกว่า ๑๖๐  เรื่อง ตัวอย่างเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง  ได้แก่  ลูกเป็ดขี้เหร่ เงือกน้อย เด็กขายไม้ขีดไฟ รองเท้าสีแดง ฉลองพระองค์ใหม่ของพระราชา  ราชินีหิมะ  เป็นต้น  นิทานของเขาได้รับการถ่ายทอดออกเป็นภาษาต่าง  ๆ  ถึง  ๘๐  ภาษา

Local Buildings Moor Park Mansion


Istanbul - City of the Seven Hills in 4K!


Road to Machu Picchu - Peru in 4K


Pamukkale ปราสาทปุยฝ้ายสุดวิจิตร

                           
                               น้ำพุร้อนปามุคคาเล (pamukkale)

    ปามุคคาเล (Pamukkale) ปราสาทปุยฝ้ายสุดวิจิตร บ่อน้ำร้อนศักดิ์สิทธิ์แห่งตุรกี ทั้งงดงามราวกับเป็นน้ำพุร้อนจากสวรรค์ และมีสรรพคุณในการบำบัดโรคจนกลายเป็นสปาธรรมชาติมานานกว่าพันปี

            หากจะคิดถึงสถานที่ท่องเที่ยวอันแสนงดงาม ราวกับไม่น่าจะมีอยู่จริงบนโลกใบนี้ ปามุคคาเลหรือ พามุคคาเล (Pamukkale) ดินแดนแห่งน้ำพุร้อน ในประเทศตุรกี ซึ่งมีลักษณะคล้ายระเบียงน้ำพุร้อนที่ซ้อนกันหลายชั้น มีขอบหินปูนสีขาว ดูวิจิตรงดงามและสะอาดบริสุทธิ์ราวกับปุยฝ้ายแห่งนี้ คงจะเป็นหนึ่งในสถานที่ซึ่งผุดขึ้นมาในใจของหลาย ๆ คนเป็นแน่ และแน่นอนว่ามันคงเป็นราวกับดินแดนในฝันของนักท่องเที่ยวหลายคนทีเดียว
            สำหรับ ปามุคคาเล ซึ่งแปลว่า ปราสาทปุยฝ้าย (Cotton Castle) ในภาษาตุรกี ตั้งอยู่ในเมืองปามุคคาเล จังหวัดเดนิซลิ (Denizli) ประเทศตุรกี มีลักษณะเป็นระเบียงน้ำพุเกลือร้อน ซึ่งเกิดขึ้นจากการเกิดแผ่นดินไหวของโลกในอดีต มีความยาวประมาณ 2.7 กิโลเมตร สูง 160 เมตร ความงดงามสุดวิจิตรของสถานที่แห่งนี้เกิดขึ้นจากบ่อน้ำร้อนที่อุดมไปด้วยแคลเซียมคาร์บอเนต หรือหินปูน ซึ่งเมื่อน้ำพุร้อนระเหยขึ้นมาเป็นเวลาเนิ่นนาน ไอน้ำก็จะค่อย ๆ ก่อให้เกิดชั้นของแคลเซียมเกาะบริเวณขอบบ่อจนเกิดเป็นผนังสีขาวขึ้นนั่นเอง

            ด้วยความเชื่อว่า ปามุคคาเล เป็นเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีสรรพคุณในการรักษาบำบัดการอาการต่าง ๆ ทำให้ในอดีตชนเผ่ากรีก-โรมันได้เข้ามาสร้างเมืองอยู่บนบ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้ และขนานนามเมืองนั้นว่า ฮีเอราโพลิส อันหมายถึงเมืองศักดิ์สิทธิ์ และปามุคคาเล ก็ได้ถูกใช้เป็นสปาบำบัดโรคมานานกว่าพันปี กระทั่งปามุคคาเลได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการร่วมกับเมือง ฮีเอราโพลิส เมื่อปี 2531 จึงได้มีการปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวลงไปอาบแช่แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้สถานที่แห่งนี้เกิดความเสียหาย


                                 ปามุคคาเล ปราสาทปุยฝ้ายสุดวิจิตร บ่อน้ำร้อนศักดิ์สิทธิ์แห่งตุรกี