นักเขียนผู้แต่งเทพนิยายซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของเด็ก ๆทั่วโลกผู้นี้ เขียนทั้งบทละคร นวนิยาย บทกวี หนังสือท่องเที่ยวและอัตชีวประวัติไว้มากมาย แต่ปรากฏว่าผลงานเหล่านี้แทบจะไม่เป็นที่รู้จักกันเลยนอกประเทศเดนมาร์ก ขณะที่เทพนิยายของเขาเป็นหนึ่งในบรรดางานเขียนที่ได้รับการแปลบ่อยครั้งที่สุดในประวัติศาสตร์วรรณกรรม
แอนเดอร์เซนเกิดในสลัมของเมืองโอเดนส์ ใกล้กรุงโคเปนเฮเกน บิดาเป็นช่างทำรองเท้าฐานะยากจน เนื่องจากเขาเกิดมามีหน้าตาขี้เหร่ จึงเป็นเด็กขี้อาย และมักถูกเพื่อนที่โรงเรียนแกล้งเสมอ เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี บิดาของเขาเสียชีวิตลงเขาจึงต้องออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำงานในโรงงาน ในยามว่างเขาชอบอ่านบทละครและทำหุ่นชักเล่นตามเรื่องที่อ่านในโรงละครเด็กเล่นที่เขาสร้างขึ้นในบ้าน
พออายุ ๑๔ ปี แอนเดอร์เซนจากบ้านเกิดไปแสวงโชคยังกรุงโคเปนเฮเกน เขาพยายามทุกอย่างเพื่อให้ได้เข้าวงการละครตั้งแต่เขียนบท แสดง ร้องเพลง และเต้นรำ เล่ากันว่าเขามุ่งหวังที่จะเป็นนักเต้นรำและนักร้องอุปรากร แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อถูกปฏิเสธภายหลังการทดลองแสดงครั้งแรก โชคดีที่โจนาสคอลิน ผู้กำกับการแสดงคนหนึ่งของโรงละครแห่งโคเปนเฮเกนเห็นแววทางด้านการเขียนของแอนเตอร์เชน จึงช่วยรวบรวมเงินส่งเสียให้เขาเรียนต่อ ขณะนั้นเขาอายุ ๑๗ ปีแล้ว แต่ต้องไปนั่งเรียนชั้นเดียวกับเด็กเล็ก แม้ว่าประสบการณ์ ๕ ปีในโรงเรียน จะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างทุกข์ทรมานสำหรับเขา แต่ก็ทำให้เขาสามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้
แอนเดอร์เซนเขียนบทละครหลายเรื่อง แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เขาดูจะเป็นที่ยอมรับในฐานะนักเขียน นวนิยายมากกว่า ในปี ค.ศ. ๑๘๓๕ หนังสือรวมเทพนิยายเล่มแรกของเขาได้รับการตีพิมพ์ คำวิจารณ์ต่อหนังสือเล่มนี้ออกไปในด้านลบ ซึ่งเขาก็ยอมรับและให้ความสำคัญกับงานเขียนสำหรับผู้ใหญ่มากกว่า อย่างไรก็ตาม เขายังคงผลิตนิทานสำหรับเด็กออกมาอย่างต่อเนื่อง
แอนเดอร์เซนนำตำนานพื้นบ้านมาเล่าใหม่ แต่ด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ นิทานที่เขาเล่าจึงแฝงไว้ด้วยคุณธรรมและความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ลึกซึ้งกินใจกว่าเรื่องดั้งเดิมมาก วิธีการเล่าเรื่องของเขาใช้สำนวนและโครงสร้างของภาษาพูด ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประเพณีการเขียนหนังสือ เขารู้จักผสมผสานความสามารถในการเล่าเรื่องเข้ากับพลังจินตนาการและความเป็นสากลที่แฝงอยู่ในตำนานพื้นบ้าน ทำให้เทพนิยายของเขาเชื่อมโยงได้กับหลาย ๆ วัฒนธรรม อีกเหตุผลหนึ่งที่นิทานของแอนเดอร์เซนจับใจคนจำนวนมากก็คือ การที่เขาประกาศตนยืนข้างผู้อับโชคและผู้ที่ถูกสังคมทอดทิ้ง
แอนเดอร์เซนหยุดเขียนหนังสือในปี ค.ศ. ๑๘๗๒ เนื่องจากสุขภาพทรุดโทรม เขาถึงแก่กรรมในอีก ๓ ปีต่อมาด้วยโรคมะเร็ง ผลงานเทพนิยายของแอนเดอร์เซนมีมากกว่า ๑๖๐ เรื่อง ตัวอย่างเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ลูกเป็ดขี้เหร่ เงือกน้อย เด็กขายไม้ขีดไฟ รองเท้าสีแดง ฉลองพระองค์ใหม่ของพระราชา ราชินีหิมะ เป็นต้น นิทานของเขาได้รับการถ่ายทอดออกเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง ๘๐ ภาษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น