วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เปิดสุสานเร้นลับ

             


                          เปิดสุสานเร้นลับ

                        ภาพ : เปิดสุสานเร้นลับ 
                        ภาพโดย : โรเบิร์ต คลาร์ก, ภาพถ่ายทั้งหมดได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเปรู 
                        คำบรรยายภาพ : ขนนกประดับอยู่บนชิ้นส่วนเครื่องประดับชิ้นนี้


ในแสงยามเย็นที่ทาบทาชายฝั่งเปรู นักโบราณคดี มีโวช เกียร์ช และโรเบร์โต ปีเมนเตล นีตา เปิดห้องเล็กๆที่ถูกปิดตายแถวหนึ่งใกล้กับทางเข้าสุสานโบราณแห่งหนึ่ง  ห้องหับขนาดเล็กซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้ชั้นอิฐหนาหนักมานานกว่าหนึ่งพันปี  ภายในบรรจุเหยือกดินเผาใบโตๆ บางใบมีภาพวาดรูปกิ้งก่าและใบหน้าคนยิ้มยิงฟันประดับอยู่ เกียร์ช  ทำหน้าเหยเกพลางพูดขึ้นว่า “ข้างล่างนี่กลิ่นแย่มากครับ” เขามองลงไปในหม้อใบใหญ่ใบหนึ่งอย่างระมัดระวัง ในนั้นเต็มไปด้วยเปลือกดักแด้เปื่อยยุ่ย อันเป็นร่องรอยที่หลงเหลือของแมลงวันซึ่งครั้งหนึ่งคงถูกดึงดูดมายังสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในหม้อ ว่าแล้วนักโบราณคดีผู้นี้ก็ลุกขึ้นยืน ปัดฝุ่นอายุ 1,200 ปีจากกางเกงขายาวจนฟุ้งไปทั่ว ในช่วงสามปีของการขุดค้นแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ซึ่งมีชื่อว่า เอลกัสตีโยเดอัวร์เมย์ เกียร์ชพานพบกับระบบนิเวศแห่งความตายที่คาดไม่ถึง ตั้งแต่ร่องรอยแมลงที่เคยกัดกินเนื้อมนุษย์ งูที่เข้ามาซุกกายและตายคาก้นหม้อดินเผา ไปจนถึงผึ้งเพชฌฆาตแอฟริกาที่บินกรูออกมาจากห้องใต้ดินและไล่ต่อยคนงาน
หลายคนเคยเตือนเกียร์ชว่า การขุดค้นท่ามกลางซากปรักของเอลกัสตีโยเป็นเรื่องยาก และแทบจะพูดได้เลยว่าเสียทั้งเวลาและเงินไปเปล่าๆ โจรปล้นสมบัติขุดอุโมงค์เข้าไปในเนินเขาขนาดใหญ่ลูกนั้นกันมาไม่ต่ำกว่าหนึ่งศตวรรษแล้ว เพื่อค้นหาสุสานบรรจุโครงกระดูกโบราณสวมเครื่องประดับทองคำ และห่อหุ้มด้วยผ้าทอลายวิจิตรที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก เนินเขาที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงลิมาไปทางเหนือสี่ชั่วโมงทางรถยนต์ เต็มไปด้วยหลุมบ่อและระเกะระกะไปด้วยกระดูกมนุษย์โบราณและขยะสมัยใหม่
แต่เกียร์ช อาจารย์หนุ่มวัย 36 ปี ผู้สอนวิชาโบราณคดีแถบเทือกเขาแอนดีสที่มหาวิทยาลัยวอร์ซอ ยังมุ่งมั่นจะขุดค้นที่นั่นอยู่ดี  เกียร์ชมั่นใจว่าต้องมีเหตุการณ์สำคัญบางอย่างเกิดขึ้นที่เอลกัสตีโยเมื่อ 1,200 ปีก่อน ชิ้นส่วนสิ่งทอและเศษเครื่องปั้นดินเผาจากอารยธรรมวารีของเปรูซึ่งยังเป็นที่รู้จักน้อยมาก และมีศูนย์กลางตั้งอยู่ไกลออกไปทางใต้ ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วเนินน้อยใหญ่ในแถบนั้น เกียร์ชและทีมวิจัยทีมเล็กๆจึงลงมือสร้างภาพสิ่งที่อยู่ใต้ดินด้วย แมกนิโทมิเตอร์และภาพถ่ายทางอากาศ ผลที่ออกมาเผยให้เห็นบางสิ่งซึ่งเล็ดลอดสายตาของบรรดาโจรปล้นสุสานหลายชั่วรุ่น นั่นคือแนวเส้นจางๆของกำแพงที่ถูกกลบฝังทอดตัวไปตามแนวสันเขาหินทางใต้
ปรากฏว่าเส้นจางๆนั้นคือแนวหอคอยและกำแพงสูงที่ประกอบกันเป็นเขาวงกตขนาดมหึมา แผ่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดทางใต้สุดของเอลกัสตีโย หมู่สิ่งปลูกสร้างแผ่ไพศาลซึ่งเดิมทาสีแดงเข้มดูเหมือนจะเป็นวิหารวารีที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการบูชาบรรพบุรุษ ขณะที่ทีมวิจัยขุดลงไปใต้ชั้นอิฐสี่เหลี่ยมคางหมูหนาๆในฤดูใบไม้ร่วง ปี 2012 พวกเขาค้นพบสิ่งที่นักโบราณคดีแถบเทือกเขาแอนดีสเพียงไม่กี่คนเคยคาดหวังว่าอาจพบเจอ นั่นคือ สุสานหลวงที่พวกหัวขโมยยังไม่เคยแตะต้องมาก่อน ภายในฝังพระศพราชินีหรือเจ้าหญิงชาววารีไว้สี่พระองค์ รวมทั้งชนชั้นสูงอีกอย่างน้อย 54 คน และโบราณวัตถุล้ำค่าของชาววารีอีกกว่าหนึ่งพันชิ้น มีตั้งแต่ต่างหูทองคำขนาดใหญ่ไปจนถึงชามเงินและขวานทำจากโลหะทองแดงผสม ซึ่งล้วนเป็นงานฝีมือชั้นยอด
อารยธรรมวารีรุ่งเรืองขึ้นในแถบหุบเขาไอย์อากูโชของเปรูราวศตวรรษที่เจ็ดโดยไม่มีใครรู้ความเป็นมา และยิ่งใหญ่เกรียงไกรเนิ่นนานก่อนหน้าอารยธรรมอินคาจะผงาดขึ้นในอีกหลายร้อยปีต่อมา พวกเขาก่อตั้งเมืองหลวงขนาดใหญ่ซึ่งทุกวันนี้รู้จักกันในชื่อนครอัวรี (Huari) ขึ้นใกล้ๆกับเมืองไอย์อากูโชในปัจจุบัน ในช่วงที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด นครอัวรีมีประชากรมากถึง 40,000 คน จากฐานที่มั่นแห่งนี้ เหล่าขุนศึกชาววารีแผ่ขยายอาณาเขตของตนออกไปหลายร้อยกิโลเมตรตามแนวเทือกเขาแอนดีส และรุกคืบเข้าไปถึงทะเลทรายแถบชายฝั่ง ก่อร่างสร้างสิ่งที่นักโบราณคดีหลายคนเรียกว่า จักรวรรดิแห่งแรกในแถบเทือกเขาแอนดีสของอเมริกาใต้
ชาววารีในฐานะผู้รุกรานต่างแดนน่าจะรุกคืบมายังแถบชายฝั่งแห่งนี้ราวปลายศตวรรษที่แปด ในสมัยนั้นพื้นที่แถบนี้ทอดยาวไปตามพรมแดนทางใต้ของเหล่าขุนศึกโมเชผู้มั่งคั่ง และดูเหมือนจะขาดผู้นำเผ่าที่แข็งแกร่ง ผู้รุกรานชาววารีเปิดฉากโจมตีด้วยวิธีใดไม่ทราบแน่ชัด เมื่อเมฆหมอกแห่งสงครามจางหายไป ชาววารีก็ผงาดขึ้นในฐานะผู้ครอบครองดินแดนไว้ในอุ้งมือ เจ้าครองผู้มาใหม่สร้างพระราชวังขึ้นตรงเชิงเขาเอลกัสตีโย เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ปกครองรายนี้และผู้สืบทอดรุ่นต่อๆมาก็เปลี่ยนเนินเขาลาดชันเบื้องบนให้กลายเป็นวิหารสูงตระหง่านอุทิศให้กับการบูชาบรรพบุรุษ
เอลกัสตีโยถูกปกคลุมด้วยซากปรักและตะกอนที่กระแสลมพัดพามาตลอดเกือบหนึ่งพันปี ทำให้หน้าตาในปัจจุบันดูเหมือนพีระมิดขั้นบันไดขนาดมหึมา เป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน แต่เกียร์ชสงสัยมาตั้งแต่แรกว่า เอลกัสตีโยต้องมีอะไรมากกว่าที่ตาเห็น เขาเชิญทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมมาช่วยตรวจสอบ และผลการศึกษาวิเคราะห์ก็ยืนยันข้อสงสัยของเกียร์ช นั่นคือ วิศวกรชาววารีเริ่มก่อสร้างตรงบริเวณยอดสุดของเอลกัสตีโยซึ่งเป็นหมวดหินธรรมชาติ แล้วจึงไล่ระดับลงมาถึงด้านล่างในที่สุด
ผู้ก่อสร้างเริ่มจากการขุดห้องใต้ดินตามแนวยอดเขาเอลกัสตีโยซึ่งจะกลายเป็นสุสานหลวง ครั้นเมื่อเสร็จสิ้นการฝังพระศพและพร้อมจะปิดผนึกสุสาน เหล่าคนงานจะเทกรวดทรายราว 30 ตันลงไป และปิดทับด้วยอิฐหนาหนักอีกชั้น จากนั้นพวกเขาจึงสร้างหอคอยสุสานขึ้นด้านบน ทาผนังเป็นสีแดงเข้มมองเห็นได้จากหลายกิโลเมตรโดยรอบ เหล่าชนชั้นสูงชาววารีจะถวายเครื่องสักการะสูงค่าไว้ตามห้องเล็กๆภายในสุสาน ซึ่งมีตั้งแต่ผ้าทอฝีมือประณีตที่ผู้คนแถบเทือกเขาแอนดีสโบราณยกย่องยิ่งกว่าทองคำ ไปจนถึงเส้นเชือกผูกเป็นปมลักษณะต่างๆที่เรียกว่า กีปู (khipu) ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือบันทึกจำนวนและประเภททรัพย์ศฤงคารที่องค์จักรพรรดิและจักรวรรดิครอบครอง ตลอดจนชิ้นส่วนอวัยวะของแร้งเทือกเขาแอนดีส ซึ่งเป็นนกที่มีความเกี่ยวโยงกับชนชั้นสูงชาววารีอย่างแนบแน่น
ตรงใจกลางหอคอยเป็นห้องประดิษฐานบัลลังก์ ราวปี ค.ศ. 2000 โจรปล้นสุสานเล่าให้นักโบราณคดีชาวเยอรมันคนหนึ่งฟังว่า พวกเขาพบมัมมี่ฝังอยู่ในซุ้มกำแพงรอบห้อง “เราค่อนข้างมั่นใจว่าห้องนี้ใช้ประกอบพิธีบูชาบรรพบุรุษครับ” เกียร์ชบอก และอาจกระทั่งเคยใช้เป็นสถานที่บูชามัมมี่ขององค์จักรพรรดิ แต่ทางทีมวิจัยยังค้นไม่พบ
บรรดาชนชั้นสูงชาววารีต่างจับจองพื้นที่บนยอดเขาสำหรับสร้างสุสานของตนเอง เมื่อใช้พื้นที่ว่างจนหมดแล้ว พวกเขาก็ออกแบบพื้นที่เพิ่มด้วยการสร้างยกพื้นขั้นบันไดไล่ลงไปตามลาดเนินเขาเอลกัสตีโย และสร้างหอคอยสุสานกับหลุมฝังศพตามยกพื้นขั้นบันไดเหล่านั้นนั่นเอง
เมื่อการก่อสร้างสิ้นสุดลง น่าจะเป็นช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปี ค.ศ. 900 ถึง 1000 นครแห่งผู้วายชนม์สีแดงเข้มก็ตั้งตระหง่านเหนือหุบเขา เอลกัสตีโยได้ส่งสารทางการเมืองอันทรงพลังถึงผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า บัดนี้ผู้รุกรานชาววารีคือผู้ครองดินแดนโดยชอบธรรม
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น