วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

น้ำตาอาบมหาภูเขา


                      น้ำตาอาบมหาภูผา

Story

ในวันที่จะกลายเป็นวันวิปโยคที่สุดในประวัติศาสตร์ของภูเขาที่สูงที่สุดในโลก  นีมา ชีริง ชาวเชอร์ปาวัย 29 ปีจากหมู่บ้านคุมจุง ย่ำเท้าออกไปทำงานตอนตีสาม เขาแบกถังแก๊สหุงต้มหนัก 29 กิโลกรัมไว้บนหลัง เบื้องหลังเขาคือหมู่บ้านชั่วคราวของเบสแคมป์เอเวอเรสต์ (Everest Base Camp) ที่ซึ่งสมาชิกของคณะนักปีนเขานานาชาติราว 40 คณะกำลังหลับใหลอยู่ในเต็นท์ สูงจากเขาขึ้นไปคือแสงจากไฟฉายคาดศีรษะส่องเป็นทางวูบวาบท่ามกลางความมืด  ระหว่างที่ชาวเชอร์ปาและคนงานชาวเนปาลเผ่าอื่นๆกว่า 200 ชีวิต เดินเรียงแถวไปตามทางโตนน้ำแข็งคุมบูซึ่งถือเป็นบริเวณที่อันตรายที่สุด มีลักษณะคล้ายเขาวงกตสูงชัน เคลื่อนขยับตลอดเวลา และเต็มไปด้วยเสาน้ำแข็งง่อนแง่น เหวน้ำแข็ง และน้ำแข็งผิดรูปผิดร่างที่ไหลย้อยเป็นระยะทาง 610 เมตรลงสู่โกรกธารที่อยู่ระหว่างไหล่เขาฝั่งตะวันตกของเมานต์เอเวอเรสต์และนุปเซ  ยอดเขาสูง 7,849 เมตรที่ตระหง่านง้ำอยู่เหนือเบสแคมป์
สหายชาวเชอร์ปาหลายคนของนีมา ชีริง ย้ำเท้ามุ่งหน้าสู่โตนน้ำแข็งดังกล่าวก่อนหน้าเขาในเช้าวันที่ 18 เมษายน ก่อนออกเดินทาง พวกเขารองท้องด้วยอาหารเช้าพื้นเมืองประกอบด้วยด้วยชาและโจ๊กทำจากแป้งข้าวบาร์เลย์เรียกว่า ซัมบา จากนั้นจึงยกข้าวของที่แพ็กไว้ตั้งแต่คืนก่อนขึ้นพาดบ่า บางคนลำเลียงเชือก พลั่วตักหิมะ สมอบก และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะใช้ขึงเชือกให้เป็นราวมืออยู่กับที่ขึ้นไปจนถึงยอดสูงสุดของเอเวอเรสต์ที่ระดับความสูง 8,850 เมตร ส่วนคนอื่นๆลากอุปกรณ์สารพัดที่จะใช้ตั้งแคมป์อีกสี่แคมป์ซึ่งอยู่สูงขึ้นไประหว่างทางสู่ยอดเขา
แม้จะต้องแบกหามข้าวของคนละอาจมากถึง 45 กิโลกรัม แต่ชาวเชอร์ปาส่วนใหญ่ก็แข็งแรงพอที่จะปีนระยะทาง 3.3 กิโลเมตรขึ้นไปยังแคมป์หนึ่งได้ภายในสามชั่วโมงครึ่งหรือน้อยกว่านั้น หลังปีนขึ้นมาจากเบสแคมป์ได้หนึ่งชั่วโมง นีมา ชีริง ซึ่งทำงานให้นักปีนเขาจากจีนคณะหนึ่ง ก็รุดมาถึงบริเวณที่เรียกกันว่า ป็อปคอร์นฟีลด์ (Popcorn Field) ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นทางสูงชันขึ้น ต้องปีนผ่านก้อนน้ำแข็งแตกหักระเกะระกะ และมีบันไดพาดเชื่อมจำนวนมาก ถัดจากตรงนี้ขึ้นไปข้างหน้าเป็นพื้นที่ราบเรียกว่า ฟุตบอลฟีลด์ (Football Field) ซึ่งนักปีนเขามักหยุดแวะพักกัน และเป็นเรื่องปกติที่จะได้ยินน้ำแข็งส่งเสียงครืดคราด ขณะที่ธารน้ำแข็งคุมบูสั่นสะท้านขยับไหลไปข้างหน้าด้วยอัตราความเร็วราวหนึ่งเมตรต่อวัน เหนือฟุตบอลฟีลด์ขึ้นไปเป็นเขตอันตรายมากอีกเขตหนึ่ง เพราะเต็มไปด้วยก้อนน้ำแข็งขนาดเท่าคฤหาสน์และแท่งน้ำแข็งยอดแหลมง่อนแง่น หากผ่านช่วงนี้ไปได้ การปีนเขาของนีมา ชีริง จะง่ายขึ้น  เพราะธารน้ำแข็งคุมบูจะแผ่ราบเรียบเป็นทุ่งสีขาวกว้างใหญ่ไพศาลที่เรียกว่า เวสเทิร์นคูม (Western Cwm)
ราวหกโมงเช้า เหนือฟุตบอลฟีลด์ขึ้นไป นีมา ชีริง ปีนไปถึงฐานของผาน้ำแข็งสูงราว 12 เมตร จากตรงนั้น เขาเริ่มภารกิจการปีนป่ายอันงุ่มง่ามขึ้นทางบันไดอลูมิเนียมมัดเชื่อมต่อกันสามอัน พร้อมสัมภาระนักอึ้งบนหลัง  พอไต่ขึ้นถึงยอดผา เขารู้สึกเหนื่อยใจเมื่อเห็นคนงานปีนเขาหลายสิบคนยืนออกันอยู่บนหิ้งน้ำแข็งลาดเอียงขนาดประมาณเท่าห้องอาหาร บางคนเข้าไปเรียงแถวรอปีนลงไปในร่องลึกทางบันไดมัดต่อกันสองอัน ในเช้าวันนั้น น้ำแข็งขยับตัวอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ทำให้สมอบกช่วงปลายด้านล่างของบันไดที่ใช้ไต่ลงหลุดออกมา ส่งผลให้การจราจรบนเส้นทางนั้นติดขัด คนที่มาถึงพื้นที่ส่วนนี้ตอนตีห้าเล่าว่าเกิดการล่าช้าอยู่นาน แม้จะตอกสมอบกยึดบันไดเข้าที่แล้ว  ตอนที่นีมา ชีริง ไปถึงตรงนั้นอีกหนึ่งชั่วโมงให้หลัง เขาพบว่า สมอบกก็หลุดออกมาอีก
"ผมว่ามีคนไปอออยู่ตรงนั้นเกินร้อยคน หลายคนไต่ลงไปด้วยการเกาะเชือก ต้องใช้เวลาตั้งครึ่งชั่วโมงกว่าจะผ่านช่วงคอขวดนี้ไปได้ ตอนนั้นละครับที่ผมรู้สึกกลัวขึ้นมามากๆ" เขาบอก

ในเนปาล ลางสังหรณ์ถึงอันตราย บางครั้งจะรับรู้ได้ในรูปเสียงแหลมสูงอื้ออึง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า คานรูนู (kan runu) หรือหูร้อง (crying ear)  นีมา ชีริง ผู้พิชิตยอดเขาเมานต์เอเวอเรสต์มาแล้วสามครั้งเคยได้ยินหูเขาร้องมาก่อนแล้วและรู้ดีเกินกว่าจะเพิกเฉย  เขาสับสนลังเลมากว่า จะแบกสัมภาระมุ่งหน้าไปยังแคมป์หนึ่งต่อตามหน้าที่ หรือจะทิ้งถังแก๊สไว้ก่อนเท่าที่มาไกลได้ที่สุด แล้วกลับลงไปทันที  เขาพยายามวิทยุติดต่อเซอร์ดาร์ (หัวหน้าลูกหาบ) ที่เบสแคมป์ แต่เจ้านายเขาลงไปจัดหาเสบียงอยู่ที่หมู่บ้านนัมเชบาซาร์ นีมา ชีริงติดต่อกับพ่อครัวที่แคมป์ได้เพียงคนเดียว เขาบอกพ่อครัวว่า หูเขากำลังร้อง และเขาจะทิ้งสัมภาระยึดไว้กับเชือกก่อน แล้วจะกลับลงมา เชอร์ปาคนอื่นๆถามเขาว่า เขาทำแบบนั้นทำไม
"ผมบอกไปว่า 'หูผมร้อง จะต้องมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นแน่ๆ ผมจะลงเขา พวกนายเองควรไปเหมือนกัน’" เขาเท้าความหลังและคะเนว่า ตอนนั้นน่าจะเป็นเวลาประมาณ 6:15 น.
เบสแคมป์และโตนน้ำแข็งยังอยู่ในเงามืด แต่เหนือขึ้นไปไกลโพ้น ยอดเขาอันเป็นที่สถิตของทวยเทพเชอร์ปาตั้งตระหง่านในแสงเจิดจ้า  ตั้งแต่ยอดจรดฐานยังเป็นเช้าอันงดงามบนเมานต์เอเวอเรสต์   จนกระทั่งอีก 11 นาทีต่อมา

เวิ้งหุบรอบเบสแคมป์ของเอเวอเรสต์นั้นกว้างใหญ่ไพศาล จนนักปีนเขามักเห็นหิมะถล่มก่อนได้ยินเสียงเสียอีก เสียงจะตามมาเหมือนฟ้าร้องตามหลังอสุนีบาต เป็นเสียงซู่ซ่าเหมือนคลื่นทะเลซัดซาด ขณะกระแสเชี่ยวกรากของหิมะ น้ำแข็ง และก้อนหินถั่งโถมลงมาตามร่องธาร หรือทะลักลงมาจากปากหุบเขา แต่หิมะถล่มที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน มีเสียงต่างออกไป โดยเฉพาะต่อหูชาวเชอร์ปาที่ได้ยินเสียงนั้นขณะอยู่ในพื้นที่โตนน้ำแข็งพอดี เกือบทุกคนบรรยายตรงกันว่าเป็นเสียง ตุ๊งงงง หนักๆ เหมือนค้อนทุบระฆังใบหนาหนักเสียงทึบๆ
น้ำแข็งรูปทรงเหมือนเขี้ยวสุนัขก้อนมหึมาสูง 34 เมตร หนักราว 7,300 ถึง 13,600 ตัน แตกตัวออกมาจากชั้นน้ำแข็งบนไหล่เขาฝั่งตะวันตกของเอเวอเรสต์ แล้วถล่มลงมาเบื้องล่าง แตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และทำให้เกิดผนังลมขนาดใหญ่ขึ้นทางด้านหน้าของน้ำแข็ง ขณะพุ่งด้วยความเร็วสูงขึ้นและมีมวลใหญ่ขึ้น เชอร์ปาบางคนคิดว่าหิมะถล่มที่เห็นคงใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะมาถึงพวกเขา แต่คนอื่นๆบอกว่า มันพุ่งมาถึงตัวภายในเวลาไม่กี่วินาที นักปีนเขาราว 24 คนอยู่ในเส้นทางหิมะถล่มโดยตรง และอีกจำนวนมากกระจายอยู่ตามริมขอบทั้งด้านบนและด้านล่าง

ไม่กี่ชั่วโมงหลังหิมะถล่มและปฏิบัติการช่วยชีวิตยุติลง ตัวเลขทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 16 คน เป็นชาวเชอร์ปา หรือไม่ก็คนงานชาวเนปาลเผ่าอื่นๆ ในจำนวนนี้สามคนยังสูญหายและคาดว่าน่าจะเสียชีวิตแล้ว พวกเขาจบชีวิตพร้อมสายรัดนิรภัย ขณะทุ่มเทแรงกายรงกายเพื่อส่งลูกเรียนหนังสือ สร้างบ้านหลังใหม่ให้ครอบครัว หรือซื้อยาแก้หอบหืดให้พ่อแม่แก่ชรา เด็กๆ 28 คนสูญเสียพ่อ ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 11 คนพบจุดจบในที่เดียวกัน ซึ่งก็คือตรงสันน้ำแข็งลาดเอียงที่พวกเขารอไต่ลงบันได และบัดนี้อันตรธานไปแล้ว
ความสยดสยองของเหตุการณ์ในวันนั้นร้ายแรงกว่าอุบัติเหตุใดๆที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้บนเมานต์เอเวอเรสต์ รวมทั้งหายนะเมื่อปี 1922 1970 และ 1974 ที่มีชาวเชอร์ปาเสียชีวิตพร้อมกันเป็นกลุ่ม ทว่าผลกระทบจากโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดนี้เพิ่งจะเริ่มปรากฏ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น